ขอบคุณเครดิตจากเว็บ http://www.yimwhan.com/board/show.php?user=UNCLE-CHALOKE&topic=26&Cate=12
ตอนที่ 1
ซึ่งผมขอสรุปบางส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญมาเล่าให้พวกเรา
ได้อ่านกันคือ
· การทำอะไรก็แล้วแต่ (ที่เรียกว่า “กรรม” ) เราทำบนฐานหรือพื้นฐานอะไร การมาเล่นหุ้นหรือลงทุนในตลาด ก็เป็นการกระทำหรือกรรมอย่างหนึ่ง เรากระทำอยู่บนฐานอะไร ฐานแห่งความโลภ หรือฐานแห่งความกลัว หรือฐานแห่งความมีสติ เมื่อเรามีสิ่งใดเป็นฐานหรือพื้นฐานในการกระทำ ก็ย่อมส่งผลให้การกระทำของเราเป็นไปตามฐานหรือพื้นฐานเหล่านั้น
· การปลูกต้นไม้ เป็นการกระทำ ซึ่งมีฐานหรือพื้นฐานแห่งการอยากได้ผล ดังนั้น การกระทำของเราก็ต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อที่ต้นไม้จะได้เจริญงอกงานจนสามารถผลิดอกออกผลมาให้เรารับประทานหรือนำไปขายได้ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน
· การมาลงทุนในตลาดจึงต้องไม่กระทำบนฐานแห่งความโลภ ความกลัว และความหลง (ความหลงที่อาจารย์อธิบายคือ การไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของตลาดหลักทรัพย์ หรือสภาพความเป็นไปของตลาด จึงทำให้ไม่สามารถกระทำหรือปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตลาด)
· การเล่นหุ้นบนฐานของความโลภ ความกลัว และความหลง ล้วนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนการเล่นหุ้นบนฐานของความเมตตา นำมาซึ่งความสบายใจ
· เราเล่นหุ้นบนฐานของความโลภ เราก็ขาดทุน เพราะมุ่งที่จะซื้อในราคาที่ต่ำสุด เพื่อหวังว่าราคาจะขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อในราคาที่ต่ำสุด เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าราคานั้นเป็นราคาที่ต่ำสุดแล้ว และเป็นความผิดพลาดตรงที่ราคาที่ต่ำสุด จะไม่มีจุด Stop Loss ให้ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดขายออกไป
· เราเล่นหุ้นบนฐานของความกลัว กลัวว่ามีกำไรแล้ว เดี๋ยวจะกลายเป็นขาดทุนจึงขายทำกำไรออกไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีสัญญาณอะไรบ่งชี้ให้ขาย ทำให้เสียโอกาสในการสร้างกำไรให้สูงขึ้น
· เราเล่นหุ้นบนฐานของความหลง คือเล่นโดยไม่รู้หรือไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของตลาดหุ้น ว่าเมื่อมีขึ้นก็มีลง เมื่อมีลงก็มีขึ้น ทำให้ไม่สามารถปรับการกระทำให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตลาด เพื่อสร้างกำไรจากการลงทุน
· ดังนั้น เราจึงต้องไม่เล่นหุ้นบนฐานของความโลภ ความกลัว และความหลง เข้ามาเจือปน แต่เราต้องเล่นตามระบบ เมื่อมีสัญญาณซื้อก็ซื้อ เมื่อมีสัญญาณขายหรือแตะจุด Stop Loss ก็ขาย
· เราต้องเล่นหุ้นบนฐานของ “ขันติ” (ความอดทน) หุ้นที่เรามี ถ้าราคายังไม่ตกลงมาถึงจุด Stop Loss ก็ไม่ยอมขายทำกำไร หรือที่เรียกว่า Take Profit เป็นอันขาด
· คำว่า Take Profit ต้องไม่มีคำ ๆ นี้อยู่ในสมองของเราเช่นเดียวกับ วอร์เรน บัฟเฟต
· คำว่า “ช้อน” ให้เอาไปเก็บไว้ในครัว ไม่ให้เอามาใช้ในตลาดหุ้น ก็จะไม่มีการ “ช้อนซื้อหุ้น” เช่นที่คนส่วนใหญ่ทำกัน
· จะซื้อหุ้น ต้องรอให้หุ้นขึ้นมาก่อนค่อยเข้าซื้อ เพราะเมื่อหุ้นขึ้น จะขึ้นไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน เมื่อหุ้นลง ก็จะลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
· ราคาหุ้นเมื่อลง จะลงไปถึง 78.6% เสมอ และเมื่อขึ้น จะขึ้นไปถึง 61.8% เสมอ ถ้าลงไม่ถึง 78.6% ก็แสดงว่าจุด High ที่ใช้ในการตีเส้น Fibo ไม่ถูกต้อง หรือขึ้นไม่ถึง 61.8% ก็แสดงว่าจุด Low ที่ใช้ในการตีเส้น Fibo ไม่ถูกต้อง
· จะซื้อหุ้นต้อง
1. รอให้ราคาลงมาแตะหรือใกล้ 78.6%
2. ต้องมีสัญญาณซื้อเกิดขึ้น
3. ต้องครบถ้วนทั้ง ข้อ 1 และ ข้อ 2
4. ถ้ามีเพียง ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 เพียงข้อเดียวก็ไม่ซื้อ
· ถ้าราคาลงมาจนทะลุระดับ 78.6% ก็จะลงลึกต่อไปถึง 161.8% ทันที และถ้าทะลุ 161.8% ก็จะลงลึกต่อไปถึง 261.8%
· บางครั้งลงมาไม่ถึงระดับถัดไป แล้วราคากลับขึ้นไปใหม่ แสดงว่าการลงยังไม่สิ้นสุด แต่การที่กลับขึ้นไปใหม่เป็นการขึ้นชั่วคราว เพราะฉะนั้น จะต้อง Pending เอาไว้ก่อน โดยการจดบันทึกไว้กันลืม
ทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนที่อาจารย์สอน จึงนำมาเล่าให้พวกเราได้อ่านกัน ถ้ามีเวลา จะทยอยสรุปประเด็นอื่น ๆ ที่อาจารย์สอนไว้ในวันนั้น
ตอนที่ 2
· ในมุมมองของผม การสอนของอาจารย์ในวันนั้น ได้วางแนวการสอนไว้เป็น 3 เรื่อง คือ
1. เรื่องของ “จิต” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเบื้องต้นของการเทรดหุ้น ที่จะต้องเข้าใจในเรื่อง “กรรมฐาน” เพื่อจะได้กำหนดฐานที่ถูกต้องในการนำไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของตน
2. เรื่องของการเข้าซื้อหุ้น และ
3. เรื่องของการ Stop Loss ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่อาจารย์เน้นมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น
· ในเรื่องที่หนึ่งได้กล่าวถึงไปแล้วในครั้งก่อน ส่วนเรื่องที่สองก็เช่นกันได้กล่าวไปแล้วบางส่วน จึงจะกล่าวเพิ่มเติมในครั้งนี้ พร้อม ๆ กับเรื่องที่สาม
· การขึ้นหรือลงของราคา มักจะไต่จากระดับหนึ่งขึ้นไปยังอีกระดับหนึ่ง เช่น ในขาขึ้น จะขึ้นไปถึง 61.8% ถ้าสามารถทะลุไปได้ ก็จะไปยังระดับถัดไปคือ 161.8% ถ้าสามารถทะลุไปได้อีก ก็จะไประดับถัดไปคือ 423.6% พอพ้นจากระดับนี้ไปแล้ว ถือว่าพ้นกรอบของ Fibo ไปแล้ว และเข้าเขตอันตราย เพราะฉะนั้น ต้องเลื่อนจุด Stop Loss ตามขึ้นไป แล้วเมื่อใดที่ราคาลงมาแตะจุด Stop Loss ก็ต้องขายทิ้งทันที หากเราขายไปแล้วราคากลับขึ้นไปใหม่ ก็ให้ถือเสียว่า “เราทำบุญมาเท่านี้” ส่วนในขาลงก็ทำนองเดียวกัน
· ทุกครั้งที่ราคามีการทำ New High ถือว่าเป็นสัญญาณให้เข้าซื้อ เพราะเป็นการบอกว่า High เดิมนั้น (โดยเฉพาะ High ที่อยู่ระดับ 100%, 61.8%) ไม่ใช่เป็น High ที่แท้จริง โดย High ที่แท้จริงจะสูงกว่านั้น ทำนองเดียวกับการที่ราคาขึ้นไปถึงระดับหนึ่งของ Fibo แล้วสามารถทะลุขึ้นไปได้ ก็จะขึ้นไปถึงระดับของ Fibo ในระดับถัดไป ก็เป็นการแสดงว่า High ที่ระดับ Fibo ก่อนหน้านั้น ยังไม่ใช่เป็น High ที่แท้จริง ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณให้เข้าซื้อ เข้าหลักของอาจารย์ที่ว่า “หุ้นยิ่งแพงยิ่งซื้อ” เพราะฉะนั้น Break New High ต้องซื้อเพิ่มเสมอ
· การเข้าซื้อหุ้น นอกจากต้องครบถ้วนทั้งสองข้อแล้ว ก็ควรจะดูภาพกราฟของหุ้นย้อนหลังในระยะเวลายาว ๆ พร้อมกับตีเส้นชุด Fibo ของระยะยาวด้วย ก็จะเห็นภาพกราฟของหุ้นได้ดีขึ้นกว่าการดูในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ของปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการ Retracement ของราคาลงมาถึงระดับของ Fibo ทั้งของระยะสั้นและระยะยาว ก็ยิ่งเป็น Pattern ที่มีน้ำหนักสูงน่าเชื่อถือมากขึ้น
· ก่อนการเข้าซื้อ ต้องทำ Position Sizing เสียก่อน เพื่อหาจำนวนหุ้นที่จะเข้าซื้อ เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผิดทาง ไม่ให้เกินกว่าระดับความเสียหายที่กำหนดไว้ เรียกว่าเข้าทางที่อาจารย์เคยพูดถึงว่า “Take care of your loss and the profit will take care of themselves”
· การทำ Position Sizing คือการคำนวณหาจำนวนหุ้นที่จะเข้าซื้อ ณ ราคาตลาดในขณะนั้น แล้วเกิดผิดทาง ราคาได้ตกลงมาแตะจุด Stop Loss จนต้องขายออกไป ทำให้เกิดผลขาดทุนเท่ากับจำนวนที่เรากำหนดไว้ ซึ่งเรื่องนี้ท่านอาจารย์ได้เคยนำมาสอนในเว๊บนี้ไปแล้ว ผมจึงขออนุญาตไม่ฉายซ้ำ แต่หลังจากเรียนไปแล้ว ผมได้นำไปทำเป็นตารางในการหา Position Sizing ใน Excell พร้อมกับเพิ่มข้อมูลบางตัวเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกหุ้นที่มีคุณสมบัติครบทั้งสองข้อแต่มีผลเสียหายถ้าผิดทางที่ต่ำกว่า หรือ มีผลกำไรถ้าถูกทางที่มากกว่า ก่อนเข้าซื้อ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ
· ผมได้นำรูปภาพตัวอย่างของ Excell มาประกอบให้เห็น และจะอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังนี้
Col. A เป็นลำดับที่
Col. B เป็นวันที่ที่เราดูหุ้น
Col. C เป็นชื่อหุ้นที่เราต้องการทำ Positon Sizing
Col. D เป็นราคาที่จะต้อง Stop Loss ซึ่งต่ำกว่าราคา Previous Low 1 ช่องราคา
Col. E เป็นราคาที่เราจะเข้าซื้อ ณ ขณะนั้น
Col. F เป็นเปอร์เซ็นต์ที่ผมคำนวณขึ้นเพื่อหาว่า เมื่อผิดทางแล้วต้องขายออกไป ณ จุด Stop Loss จะขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเอา (E-D)/D*100
Col. G เป็นจำนวนเงินที่เราจะยอมขาดทุนในการซื้อหุ้นต่อครั้ง ซึ่งแล้วแต่กำหนด ซึ่งอาจารย์แนะนำว่า ถ้าพอร์ต 1 ล้านบาท ควรให้ขาดทุนได้ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งจะนำตัวนี้มาใช้ในการคำนวณหาจำนวนหุ้นที่จะซื้อ
ในกรณีที่มีพอร์ตมากกว่านั้น ก็กำหนดจำนวนเงินที่จะยอมขาดทุนได้ให้เหมาะสม เพื่อให้เมื่อซื้อตามระบบนี้จนเต็มวงเงินแล้ว ควรจะมีหุ้นในพอร์ตไม่มากตัวจนเกินไป และไม่น้อยตัวจนเกินไปจนทำให้ไม่ได้กระจายความเสี่ยง
Col. H เป็นจำนวนหุ้นที่จะซื้อ โดยคำนวณจาก G/(E-D)
Col. I เป็นจำนวนหุ้นที่จะซื้อ ที่คำนวณได้ตาม G มาปัดเป็นตัวเลขกลมให้เป็นหลักร้อย ซึ่งเป็นจำนวนขึ้นต่ำที่จะสามารถซื้อขายได้ในตลาด โดยใช้สูตร INT(H/100)*100
Col. J เป็นจำนวนเงินที่จะใช้ซื้อหุ้นในจำนวนตาม I และที่ราคาตาม E
Col. K เป็นราคาเป้าหมายที่ระดับ 61.8% ของ Fibo ซึ่งต้องใส่ตัวเลขเอาเอง
Col. L เป็นค่า Risk and Reward Ratio ที่คำนวณขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีระดับความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันระหว่างหุ้นแต่ละตัวเท่าใด โดยมีหน่วยเป็นจำนวนเท่า ถ้ามีค่าเท่ากับ 2.5 หมายถึงว่า ถ้าผิดทาง เราเสีย 1 หน่วย แต่ถ้าถูกทาง เราได้ 2.5 หน่วย คำนวณได้โดยใช้สูตร (K-E)/(E-D)
Col. M เป็นค่าของเปอร์เซ็นต์กำไร ถ้าเราขายไปในราคาที่เป้าหมาย K ในราคาที่ซื้อมาที่ E ใช้สูตร (K-E)/E*100
Col. N เป็นจำนวนเงินกำไรที่จะได้ในการขายหุ้นออกไป โดยใช้สูตร (K-E)*I หรือ กำไรต่อหุ้นที่ได้คูณด้วยจำนวนหุ้นที่ซื้อ ยังไม่ได้หักค่าคอมไปกลับในการซื้อขาย
· ในตาราง Exell นี้ ถ้าได้ผูกสูตรไว้ตามที่กล่าวถึงข้างต้น เราก็เพียงแต่ Key ข้อมูลใน Col. A, B, C, D, E, G และ K เท่านั้น Col. อื่น ๆ ที่ได้ทาสีไว้ ก็จะปรากฏตัวเลขขึ้นมาเองจากสูตรที่ได้ผูกไว้
· ข้อมูลของ %Loss, RRR, %Gain น่าจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าในกรณีที่เรามีข้อจำกัดว่าวงเงินเหลือน้อยที่จะซื้อหุ้นได้เพียงตัวเดียว แต่ปรากฏว่ามีหุ้นหลายตัวน่าสนใจ เราก็นำข้อมูลมาใส่ในตารางเพื่อดูว่า ตัวไหนให้ RRR, %Gain สูงกว่าเพื่อน หรือในกรณีผิดทาง ตัวไหนมี %Loss ต่ำกว่าเพื่อน โดยพิจารณาควบคู่กันไปทั้งสองด้าน แล้วจึงตัดสินใจเลือกซื้อเพียงตัวเดียว
· การใส่สูตร ที่ทำไว้ให้ดูข้างต้น ผมอ้างอิงแต่ตัวอักษรของ Col. ไม่ได้อ้างอิงถึงตัวเลขของ Row ดังนั้น เวลาท่านใส่สูตรในแต่ละ Cell อย่าลืมใส่ตัวเลขของ Row นะครับ
· เมื่อใส่สูตรได้ครบทุก Cell แล้ว ก็ให้ Copy ทั้งบรรทัดลงไปยังบรรทัดถัดไปข้างล่าง เพื่อจะได้ใส่ชื่อหุ้นเพื่อทำ Position Sizing ได้สะดวกง่ายขึ้นครับ
· รูปแบบตารางข้างต้น ผมนำเอาคำสอนของอาจารย์มาใช้ แล้วบวกกับข้อมูลตัวอื่น ๆ ที่ผมต้องการ มาใช้ในตารางเดียวกัน จึงเพียงนำเสนอมาให้เป็นตัวอย่าง ใครจะนำไปปรับใช้กับข้อมูลอย่างอื่นก็ได้ครับ
· ว่าจะเอาให้จบเรื่องสุดท้ายคือ การ Stop Loss แต่คงจะไม่ทันเพราะเดี๋ยวจะต้องไปทำธุระข้างนอก เอาไว้มีเวลาว่าง จะสรุปให้อีกครั้งครับ
เป็นอันครบถ้วนท้ง 3 ตอนที่ผมได้เขียนสรุปขึ้นและเคยโพสไว้ใน web set50.com นำมาใส่เพิ่มเติมที่พวกเราได้อ่านกัน
สวัสดีครับ
ตอนที่ 3
• ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า ผมได้ Copy ตาราง Excell ส่งเข้ามาในกระทู้ ครั้งที่แล้ว แต่กลายเป็นว่า
มาแต่ตัวเลข แถมอยู่ติด ๆ กันอีก ทำให้มองดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจได้ง่าย
คงต้องอาศัยการอ่านคำอธิบายประกอบไปด้วยนะครับ และขอแก้คำทีพิมพ์ผิด คือ สูตรใน Col. F จาก (E-D)/D*100
ที่ถูกต้อง คือ (E-D)/E*100 และใน Col. I จาก “ที่คำนวณได้ตาม G” แก้เป็น “ที่คำนวณได้ตาม H”
ต้องขออภัยในความผิดพลาดด้วยครับ
• ทีนี้ก็มาว่ากันต่อถึงเรื่องการ Stop Loss ซึ่งอาจารย์สอนไว้ว่า
เมื่อได้เข้าซื้อหุ้นตามกฎหรือเงื่อนไขที่กำหนดครบถ้วนสองข้อแล้ว ก็รอให้ราคาไต่ขึ้นไปหาเป้าหมายที่
61.8% โดยมีจุด Stop Loss ที่ราคาต่ำกว่า Prev. Low 1 ช่องราคา เพราะฉะนั้น ถ้าราคาไต่ไปไม่ถึง
แล้วกลับตกลงมา ก็ต้องหนักแน่นเข้าไว้ ไม่ขายเด็ดขาด จะขายก็ต่อเมื่อลงมาแตะจุด Stop Loss
ที่กำหนดไว้เท่านั้น ต้องถือหลักกรรมฐานแห่งขันติ คือเล่นหุ้นบนฐานของความอดทน
• ต่อเมื่อราคามาถึงเป้าหมายแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนจุด Stop Loss จากเดิม ที่ราคาต่ำกว่า Prev. Low 1
ช่องราคา เป็นจุด Stop Loss อันใหม่ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกอันไหน เช่น สัญญาณขายตาม Chaloke System 2
ของอาจารย์ก็ได้ เมื่อเลือกใช้อันไหนก็ยึดอันนั้นเป็นหลัก อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
และเมื่อราคาที่ขึ้นไปแล้วตกลงมาจนเกิดสัญญาณขาย ก็ให้ขายไป
• ในวันที่สอนนั้น อาจารย์ได้ให้ Indicator Builder ในการ Stop Loss
เพิ่มเติมจากที่อาจารย์เคยให้ไว้เดิมคือ Chaloke Last Stop มาอีก 2 ตัว คือ
1. Stop Loss By 3 Lowest Low สูตร คือ
LLV(Ref(L,-1),3)
2. Stop Loss By ATR สูตร คือ
aa:=L-1*ATR(14);
bb:=If(L<PREVIOUS ,aa,If(aa>PREVIOUS ,aa,PREV));
Ref(bb,-1)
• เพื่อน ๆ ลองไปทำดูนะครับ แล้วพิจารณาเลือกนำตัวใดตัวหนึ่งมาใช้ ถ้าราคาลงมาแตะเส้น ก็ถือเป็นจุด Stop
Loss หรือสัญญาณให้ขาย หรือจะยังคงยึดสัญญาณขายตาม Chaloke System 2 ก็ได้ครับ แล้วแต่พิจารณากันเอาเอง
• ในตอนท้าย อาจารย์ยังสรุปประเด็นต่าง ๆ ไว้ว่า
- ก่อนเข้าซื้อหุ้น ต้องคิดให้รอบคอบว่า การซื้อในคราวนี้ เราจะยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เท่าใด
ซึ่งก็คือการทำ Position Sizing ถ้าเป็นเงิน 2,000 บาทต่อครั้ง ก็ต้องยอมเสียไปเมื่อราคาตกลงมาแตะจุด
Stop Loss ต้องยอมหยุด ต้องยอมเป็นผู้แพ้ในครั้งนี้ แล้วค่อยเริ่มต้นกันใหม่ เข้าทำนองที่ผมคิดเองว่า
แพ้ศึกแต่ไม่แพ้สงคราม ซึ่งดีกว่าชนะศึกแต่แพ้สงคราม
- มนุษย์เราก็เป็นอย่างนี้ คือมี โลภะ โทสะ โมหะ ถึงจังหวะของการซื้อ/ขาย แล้วทำไม่ได้
เพราะตกอยู่ในกรรมฐานของความโลภ ความโกธร และความหลง
- จิตที่สงบเป็นฐานที่ดีในการกระทำอะไรก็ตาม เพราะจิตที่สงบทำให้มีสมาธิและปัญญา
เมื่อจะทำอะไรก็สามารถทำได้ง่ายและทำได้ถูกต้อง เพราะไม่มี โลภ โกธร หลง เข้ามาเจือปน
- และสุดท้าย จิตที่สงบได้ ต้องไม่มีอะไรมารบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นที่อยู่บนดอย
ต้องไม่มีในพอร์ตมารบกวนทำให้จิตไม่สงบ
• ก็เป็นอันครบถ้วนตาม lecture เท่าที่ผมจดมาจากการบรรยายของอาจารย์ ห่างมีขาดตอนตกหล่นไป ขอเพื่อน ๆ
ท่านอื่นที่เข้าเรียนในวันนั้นช่วยมาเสริมด้วยนะครับ คนอื่น ๆ
และผมจะได้รู้เพิ่มเดิมจากที่จดไม่ทันหรือตกหล่นไป
• ทั้งหมดนี้ที่ผมกล้านำมาเผยแผ่ให้พวกเราได้อ่านกัน ก็เป็นเพราะอาจารย์โฉลก เป็นผู้ที่มี
น้ำใจที่ให้แก่คนทั้งปวง รู้แต่ให้ไปไม่หวง จึงเปิดสอนให้ผมและเพื่อน ๆ แบบให้เปล่า
ซึ่งถ้าเป็นการไปสมัครเรียนแบบเสียสตางค์เหมือนผู้สอนท่านอื่น ๆ
ผมก็คงไม่กล้านำเอาความรู้ที่ได้มาเปิดเผยแบบนี้
เพราะจะเป็นการทำให้ผู้สอนเสียโอกาสในการได้ผู้เรียนเพิ่มเติมในอนาคตได้
ถ้าเป็นแบบนั้นผมก็คงไม่ทำอย่างแน่นอน ดังนั้น
ทุกท่านที่ได้อ่านสิ่งที่ผมได้มาแล้วนำมาถ่ายทอดให้ท่านได้อ่านเอาความรู้กันนั้น
ไม่ต้องขอบคุณผมหรอกครับ แต่ขอให้ขอบคุณอาจารย์โฉลกหรือลุงโฉลก
ของผมและของทุกท่านจะเป็นการถูกต้องกว่าครับ
• และรอบที่ได้เรียนกับอาจารย์ในครั้งนี้
เป็นรอบที่อาจารย์สอนสำหรับผู้ที่ได้ทำบุญร่วมกับอาจารย์ในครั้งที่อาจารย์ไปทำบุญที่วัดในประเทศอังกฤษ
ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนที่ร่วมทำบุญในครั้งนั้นคงทำบุญโดยไม่ได้หวังผลใด ๆ เป็นการตอบแทน
แต่เป็นการทำบุญด้วยจิตกุศลที่จะช่วยสืบพระศาสนาให้แพร่ไปยังดินแดนต่าง ๆ ในโลกนี้ ผมเองก็คิดเช่นนั้น
แล้วผลเป็นอย่างไรบ้างครับ ได้ผลตอบแทนจากการได้เข้าเรียนในรอบนี้อย่างไม่คาดคิดมาก่อน เห็นไหมครับ
การทำบุญก็ดีอย่างนี้แหละ ขอเพียงแต่ทำด้วยจิตที่สงบ สะอาด สว่าง ไม่เจือด้วยความโลภ โกธร หลง
แล้วท่านจะมีความสงบ สะอาด สว่าง เป็นกรรมฐานในการทำกิจทั้งปวงให้สำเร็จลุล่วงสมความปรารถนา
รวมทั้งการเล่นหุ้นหรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกันครับ
• ก็เป็นอันจบภารกิจที่ผมตั้งใจทำ แล้วถ้ามีโอกาสและเป็นประโยชน์แก่พวกเราที่อ่านกัน
ก็ยังคิดจะทำต่อไปครับ สวัสดีครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น